logo

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : ปัสสาวะรดที่นอน/ฉี่รดที่นอน (Bedwetting)

ปัสสาวะรดที่นอน/ฉี่รดที่นอน (Bedwetting หรือ Enuresis หรือ Nocturnal enuresis) เป็นภาวะหรืออาการผิดปกติที่เกิดจากการควบคุมการปัสสาวะไม่ได้ ส่งผลให้เกิดการปัสสาวะรดที่นอนในช่วงนอนหลับตอนกลางคืน หรืออาจปัสสาวะรดเสื้อผ้าในช่วงกลางวัน หรือเกิดขึ้นทั้งช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน ทั้งนี้ปัสสาวะรดที่นอนจะถือเป็นภาวะปกติ เมื่อเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 4 ปี เพราะเป็นช่วงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย รวมทั้งระบบสมองและระบบประสาทซึ่งควบคุมการปัสสาวะยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เด็กวัยก่อน 5 ปีจึงไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้

ทั้งนี้ เมื่อเด็กปัสสาวะรดที่นอนตั้งแต่เกิด และยังคงปัสสาวะรดที่นอนต่อเนื่องจนถึงอายุ 5 ปีขึ้นไป ไม่เคยมีช่วงที่ปัสสาวะปกติเลย เรียกว่า ปัสสาวะรดที่นอนปฐมภูมิ (Primary enuresis) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยประมาณ 75-85% ของภาวะนี้ทั้งหมด แต่ถ้าเมื่อช่วงเด็กเล็กปัสสาวะรดที่นอน แต่อาการหายไปจนสามารถควบคุมการปัสสาวะได้เป็นปกติติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนแล้วกลับมามี อาการซ้ำใหม่อีก เรียกว่า ปัสสาวะรดที่นอนทุติยภูมิ (Secondary enuresis) ซึ่งพบได้ประมาณ 15-25% ซึ่งปัสสาวะรดที่นอนทุติยภูมินี้จะพบได้สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

ก.ปัสสาวะรดที่นอนปฐมภูมิ: ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของปัสสาวะรดที่นอนปฐมภูมิ แต่จากการศึกษาเชื่อว่าน่าเกิดจากหลายสาเหตุ หรือหลายปัจจัยร่วมกัน ซึ่งสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • พันธุกรรม
  • สมอง และ/หรือระบบประสาทที่ควบคุมการปัสสาวะเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กทั่วไป
  • อาจมีการสร้างฮอร์โมนควบคุมปริมาณน้ำปัสสาวะในช่วงกลางคืนลดลงกว่าปกติ จึงส่งผลให้ปริมาณน้ำปัสสาวะสูงกว่าคนทั่วไปในช่วงนอนหลับกลางคืน
  • อาจมีกระเพาะปัสสาวะเล็กกว่าคนทั่วไป
  • กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอาจทำงานลดลงในช่วงนอนหลับ
  • อาจมีโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ ทำให้นอนหลับลึก เมื่อปวดปัสสาวะจึงไม่รู้สึกตัว

ข. ปัสสาวะรดที่นอนทุติยภูมิ สาเหตุของปัสสาวะรดที่นอนทุติยภูมิ ได้แก่

  • ท้องผูกเรื้อรัง เพราะก้อนอุจจาระจะส่งผลถึงการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะด้วย
  • โรคของกระเพาะปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะผิดปกติ หรือการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะผิดปกติจากโรคทางประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคของต่อมไร้ท่อ ที่ส่งผลให้ลดการสร้างฮอร์โมนควบคุมปริมาณปัสสาวะ ปริมาณปัสสาวะจึงสูงขึ้น
  • โรคเบาหวาน (ในเด็กและในวัยรุ่น) เพราะส่งผลให้เกิดกระเพาะปัสสาวะ หรือประสาทควบคุมกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่าย
  • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน จากต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
  • มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น หลับลึกจนไม่รู้ตัวว่าปวดปัสสาวะ หรือโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ  
  • โรคลมชัก
  • มีพยาธิเข็มหมุด ซึ่งกระตุ้นการบีบตัวของทวารหนัก ส่งผลกระตุ้นกระเพาะปัสสาวะให้บีบตัวผิดปกติด้วย
  • มีปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ เช่น ปัญหาจากโรงเรียน หรือ ปัญหาครอบครัว

ปัสสาวะรดที่นอนเป็นภาวะที่ดูแลรักษาให้หายได้เสมอ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ ไม่แก้ไข อาจก่อผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ ต่อเด็ก จนอาจส่งผลถึงการเรียน บุคลิกภาพ และความประพฤติของเด็กได้